ชีวิตที่ประตูมรณะ

 

แพทย์อาสาสมัครฝรั่งบรรยายถึงประสบการณ์ในการทำงานกับคนที่สังคมทอดทิ้ง และสิ่งที่พบเห็นในสถานพยาบาลผู้ป่วยโรคเอดส์ขั้นสุดท้าย

โดย Yves Wery, M.D.

 

ในประเทศไทยมีสถานที่สุดสยองอยู่แห่งหนึ่ง ณ ที่นี้ ผมติดตามการเดินทางสู่ความตายของคนไทยกว่า 1,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่อายุไม่ถึง 35 ปี หลังสังเกตความเป็นไปอยู่นานสองปี ผมก็ตกหลุมรักวัฒนธรรมไทยมากยิ่งกว่าเดิม และอยากจะเป็นคนไทยมากกว่าเป็น "ฝรั่ง" อย่างที่ผมเป็นอยู่นี้หลายพันเท่า

คุณอาจไม่เชื่อในสิ่งที่ผมเล่า และบางคนอาจหาว่าผมพูดเกินความจริง ลองแวะไปดูที่เว็บไซต์ www.aids-hospice.com แล้วคุณคงเห็นด้วยแน่ว่าคำพูดของผมไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ

ขณะดูภาพในเว็บไซต์ พึงระลึกไว้ด้วยว่าภาพทั้งหมดที่เห็นใช้เวลารวบรวมเพียงสองสามเดือน แพทย์ทุกคนคงยืนยันกับคุณได้ว่า ภาพเหล่านี้นอกจากจะบอกกล่าวเรื่องโรคเอดส์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึง "สภาพการลอยแพทางการแพทย์" ด้วย วัดพระบาทน้ำพุ เป็นสถานพยาบาลขั้นสุดท้ายสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์และเป็นวัดในขณะเดียวกัน สถานที่แห่งนี้ออกจะแลดูคล้ายค่ายพักแรมวันหยุด จนกระทั่งสายตาคุณสะดุดปล่องไฟซึ่งจะทำให้นึกถึงอย่างอื่น คุณจะหวนคืนสู่โลกแห่งความเป็นจริงทันทีที่ได้ยินเสียงจากลำโพงบอกให้ "นายสมบูรณ์มาที่เมรุหมายเลข 7" คนไข้ที่นี่ได้รับการดูแลแค่ขั้นพื้นฐาน บางคนสิ้นใจวันที่มาถึง บางคนอยู่รอดมาได้หนึ่งปีหรือกว่านั้น คนที่ยังกิน พูดและทำงานได้ จะมีที่พักให้อยู่ฟรีเป็นเรือนพักเล็กๆที่เรียงรายอยู่รอบ "เรือนแห่งความทรมาน" ซึ่งตั้งอยู่สองหลังสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก นอกจากนี้ วัดพระบาทน้ำพุยังเป็นศูนย์ข่าวสารเพื่อการศึกษาโรคเอดส์ ทุกปีจะมีนักเรียนนักศึกษา ทหารและผู้ใจบุญบริจาคเงินนับพันแวะเวียนมาดูผู้ป่วยตามเรือนคนไข้ และกลับไปพร้อมใจหดหู่ที่ได้เห็นภาพความหายนะของคนไทยร่วมสมัยจากโรคร้ายนี้ อาชญากรรม ชายหนุ่มค่อนข้างขี้อายและอ่อนโยนมาถึงเราในสภาพอ่อนแอมาก เขาเข้าไปอยู่ในเรือนแห่งความทรมานเพียงสองสามวันก็ออกมาได้ แต่ผอมเหลือหนังหุ้มกระดูกจนไม่อาจคิดถึงชีวิตข้างหน้า เขาทำได้เพียงรอคอยวันสุดท้ายที่จะมาถึง บางครั้งก็ขโมยเงินจากคนไข้ขี้หลงขี้ลืมคนหนึ่งเพื่อไปซื้อน้ำอัดลมมาดื่ม แต่แล้วก็ถูกจับได้ ความกลัวว่าจะถูกไล่ออกจาก "หมู่บ้านแห่งมรณะ" ทำให้ชายหนุ่มตัดสินใจเดินขึ้นไปบนชั้นสามของตึกแล้วกระโดดลงมาหัวปักพื้นคอนกรีตและเสียชีวิตสองชั่วโมงให้หลัง ตอนที่ผมเข้าไปพยุงศีรษะเขาขึ้นมา สมองยังเต้นตุบๆอยู่เลย อย่าบอกผมเลยนะครับว่า ผู้ดูแลสถานที่แห่งนี้ไม่น่าจะเข้มงวดมากเกินไป คุณคงไม่ทราบหรอกว่าการดูแลชุมชนที่มีแต่คนถูกสาปให้ตายอาศัยอยู่นั้นเป็นอย่างไร การดูแลผู้หญิงค่อนข้างง่าย แต่พวกผู้ชายต่างกันมาก "ผู้อยู่อาศัย" บางคนเคยติดยา บ้างก็เป็นอันธพาลที่คอยข่มขู่กรรโชกเงินจากคนไข้ที่เป็นอัมพาต เรามีคนติดเชื้อเอชไอวีจากทุกสาขาอาชีพ คนใกล้ตัว ครอบครัวต่างๆนำลูกชายหรือลูกสาวมาทิ้งไว้ที่สถานพยาบาลขั้นสุดท้าย เหมือนคนนำตู้เย็นเก่าออกมาขายทิ้งให้พ่อค้าเศษเหล็ก บางครั้งมีคนนำแม่มาทิ้งไว้ ทั้งที่ผู้เป็นแม่ก็ไม่เข้าใจว่า โรคร้ายนี้ทำลายชีวิตเธออย่างกะทันหันได้อย่างไร ครอบครัวเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เคยย้อนกลับมาร่วมพิธีศพด้วยซ้ำ ผมรู้สึกเห็นใจผู้หญิงที่มาเสียชีวิตที่สถานพยาบาลของเรา พวกเธอส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอะไรเกินเลยหรือนอกใจสามี แต่ต้องตายเพราะไว้ใจสามีผู้ซึ่งไม่สมควรได้รับความไว้วางใจแม้แต่น้อย คนไข้บางคนเลือกมาที่นี่แม้จะไม่ได้เป็นที่รังเกียจของโรงพยาบาลหรือคนในครอบครัว ชายคนหนึ่งเป็นเรื้อนกวางซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อ และครอบครัวก็พร้อมจะดูแลเขา แม้แต่โรงพยาบาลในจังหวัดก็พร้อมจะให้การรักษา แต่เขาเลือกที่จะมาวัดพระบาทน้ำพุเพราะชาวบ้านรังเกียจสภาพผิวหนังไม่น่าดูและคิดว่าเขาเป็นเอดส์ ซ้ำร้ายลูกค้าก็ไม่กล้าเข้าไปอุดหนุนร้านอาหารของครอบครัวเขาอีกเลย  

คนไข้ทารก

เคยมีคนนำเด็กอายุ 15 เดือนมาที่สถานพยาบาล เด็กหนักแค่ห้ากิโลกรัม เนื้อตัวเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกและเอ็น คาดกันว่าหนูน้อยคงอยู่ได้ไม่ถึงสองสัปดาห์ เด็กไม่มีแรงแม้จะดูดนม แถมถ่ายออกมาเป็นเลือด ผิวหนังที่แห้งเหี่ยวย่นทำให้เราเชื่อว่า ตับและไตของเธออาจเป็นแค่ก้อนเนื้อแห้งผาก มีคนจีนอาสาจะบริจาคโลงศพเล็กๆน่ารักให้ แล้วก็เอามาวางทิ้งไว้ที่ประตู

เธอยื้อยุดกับความตายอยู่นานจนในที่สุดเราก็ตระหนักว่า อาการเจ็บป่วยของหนูน้อยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเอดส์แต่อย่างใด ร่างกายเธอเพียงแต่ดูดซึมน้ำนม ไม่ได้ตามปกติ ผมจึงสั่งห้ามให้นมปกติ จากนั้นปาฏิหารย์ก็เกิดขึ้น น้ำหนักของเธอเพิ่มขึ้นทุกวัน

ต่อมา เราเกรงว่าเชื้อโรคที่สั่งสมอยู่ในเรือนคนไข้จะแพร่เข้าตัวเธอ จึงจำเป็นต้องให้เธอออกจากสถานพยาบาลหากต้องการเห็นเธออยู่ในสภาพแข็งแรงเช่นปัจจุบัน แต่จะให้เธอไปอยู่ที่ไหนเล่า เราสอบถามหลายแห่งจนไปถึงชาวเยอรมันคนหนึ่ง ซึ่งทำงานช่วยเหลือเด็กติดเชื้อเอชไอวี พอตกลงกันได้ ทารกน้อยก็จากพวกเราไปอยู่ในความดูแลของเขา แล้ววันเดียวกันก็ มีทารกอีกคนเข้ามาอยู่กับเราในเรือนคนไข้ งานของเราเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

 

จิตศรัทธา ผู้บริจาคปัจจัยก้อนใหญ่จะไม่เข้ามายุ่งกับการบริหารงานของเรา และไม่ข้องเกี่ยวแม้แต่หลักการและรูปลักษณ์ของสถานที่ นักธุรกิจเยอรมันคนหนึ่งมาพบเจ้าอาวาสที่วัด และเสนอตัวจะดูแลเด็กที่เข้ามาอยู่ในสถานพยาบาล เขาไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆนอกจากคำอนุญาตที่จะสร้างบ้านพักให้เด็กๆ รวมทั้งเลือกคนงาน และจัดระบบวิธีจ่ายยา โครงการของเขาดำเนินไปด้วยดี เด็กๆมีความสุขและตายน้อยลง ตลอดจนได้รับยารักษาเอชไอวีคุณภาพดีที่สุด โดยผู้บริจาครายนี้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ความเอื้อเฟื้อของคนไทยเป็นสิ่งที่ควรพูดถึงเช่นกัน ผมเคยเดินทางไปประเทศต่างๆมาแล้วกว่า 30 ประเทศ และยังคงเชื่อว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่โอบอ้อมอารีที่สุด อย่างไรก็ดี ความโอบอ้อมอารีที่มอบให้จะต้องมีคนเห็นหรือรับรู้ ผู้บริจาคที่มาวัดพระบาทน้ำพุจะแสดงตัวเอง พร้อมกับถ่ายภาพมากมายตอนมอบเงินบริจาค และถ้าผู้บริจาคเป็นคนกว้างขวาง ก็จะมีช่างภาพโทรทัศน์มาด้วย

 

แตะตัวฉันหน่อย

ผมไปยืนข้างๆเตียงคนไข้และถามเขาว่าต้องการอะไรบ้างไหม เขาตอบว่า "แตะตัวผมหน่อย" ผมจึงแตะตัวเขา ดวงตาของเขามีน้ำตาคลอเบ้า

ผมแวะไปที่เตียงคนไข้หญิงชราคนหนึ่งเพื่อตรวจดูมือทั้งสองข้าง เธอร้องไห้และพูดว่า "คุณกล้าแตะตัวฉันหรือคะ คุณหมอ" ตอนนี้ผมแตะตัวคนไข้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยฝ่ามือทั้งสองโดยไม่ใช้ถุงมือ ยกเว้นในกรณี่จำเป็น แค่เดินเข้าไปในเรือนคนไข้ที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคก็ทำให้รู้สึกเหนื่อยโดยยังไม่ต้องลงมือทำงานอะไรเลย พยาบาลผู้อดทน ทีมงานของเราประกอบด้วยผู้ช่วยพยาบาลสิบคน ซึ่งช่วยกันดูแลคนไข้ใกล้ตาย 70 คน พยาบาลทุกคนต่างเหนื่อยเหน็ด แทบทุกคนทำงานวันละ 12 ชั่วโมงโดยไม่มีสวัสดิการใดๆ และมีวันหยุดสัปดาห์ละหนึ่งวันเท่านั้น

ถ้าผมยกเรื่องนี้มาพูด พวกเขาจะบอกว่า ทำงานน้อยกว่านี้ก็คงไม่ได้ เพราะมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เด็กสาวคนหนึ่งต้องหาเงินจุนเจือครอบครัว อีกคนต้องการเรียนสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับงาน คนที่สามคิดถึงเรื่องลูกที่จะมีในอนาคต

เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาคนบริจาครูปแบบใหม่ ซึ่งจะต้องปฏิบัติภารกิจโดยไม่หวังผลตอบแทนแม้แต่คำขอบคุณ และจะทำงานปิดทองหลังพระ ภารกิจที่ว่าก็คือจัดหาและว่าจ้างทีมงานผู้ช่วยพยาบาลเพิ่มอีกสิบคน จ่ายให้คนละ 6,500 บาทต่อเดือนสำหรับการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง

 

แล้วแพทย์เล่า สถานพยาบาลไม่ใช่โรงพยาบาล ด้วยเหตุนี้วัดพระบาทน้ำพุจึงไม่มีห้องปฏิบัติการ เครื่องเอกซเรย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือแม้แต่ยาที่จำเป็นอย่างมอร์ฟีนก็ไม่มี แต่ก็มีคนไข้หลายคนที่ไม่อยู่ในข่าย "ผู้ป่วยใกล้ตาย" มาหาเรา ผมจะไม่ยอมดูแลรักษาผู้ที่ยังเดินได้ จึงบอกคนไข้เหล่านี้ให้ไปรักษาตัวที่อื่นซึ่งเหมาะสมกว่า และโรงพยาบาลก็รับคนไข้บางคนเข้ารักษา ส่วนคนไข้ที่ยังอยู่กับเรา ผมก็ต้องรักษาด้วยยาที่สรรหาขึ้นเอง ผมไม่ใช้หมอที่เก่งกาจสำหรับงานประเภทนี้เสียด้วย และผมก็รู้ตัวดีว่าไม่ใช่หมอที่ดีพอจะให้คนไข้ยอมรับนับถือ แต่ในเมื่อยังมีคนมาหาผมเรื่อยๆเพราะโรงพยาบาลไม่ยอมรับ พวกเขาก็คงต้องพอใจกับผมไปก่อน หากพูดอย่างเป็นทางการ ที่นี่ไม่มีแพทย์ หากไม่เป็นทางการก็มีผมคนเดียวที่เป็นแพทย์ แต่ผมซึ่งเป็นคนรับใช้ของผู้ป่วยทั้งหลายค่อนข้างจะอ่อนแอในระยะหลัง โดยเริ่มจากติดเชื้อวัณโรค แล้วเป็นโรคซึมเศร้าตามมา ตอนนี้จึงทำงานได้เพียงวันละสองสามชั่วโมง นั่นสิครับ ฝรั่งไม่แข็งแรงเหมือนคนไทยเลย

ปัญหาก็คือแพทย์ทั่วไปจะไม่ยอมทำงานในที่ซึ่งไม่มีห้องปฏิบัติการและเครื่องเอกซเรย์ ทั้งนี้เพราะความผิดพลาดทางการรักษาย่อมส่งผลให้คนไข้ตายเกือบทุกราย การเสี่ยงทางการแพทย์กับชีวิตคนไข้ทุกๆวันเป็นเรื่องสุดสยองอย่างยิ่ง

มีคนไข้รายหนึ่งมาที่สถานพยาบาลด้วยอาการสำลักหายใจไม่ออก และโรงพยาบาลในจังหวัดของเขาก็ไม่รักษาให้ ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเป็นโรคพีซีพีหรือโรคปอดบวมกันแน่ เขามีอาการปวดหัวรุนแรงและทรมานมาก หรือว่าเป็นโทโซ หรืออาจจะคริปโต ไม่มีใครอยากรักษาผิดพลาด หากรู้ว่าคนไข้อาจอยู่รอดได้อีกปีถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และไม่ต้องเสียเงินค่ารักษามากมายด้วย

ความไม่สะดวกที่สำคัญอีกเรื่องสำหรับแพทย์ที่นี่คือ คนไข้ทุกคนมีแนวโน้มจะต้องตาย ในสมรภูมิแบบนี้ ผู้ที่กล้ารักษาคนไข้จะมีโอกาสแพ้มากกว่าชนะ

 

น้ำตาและเสียงหัวเราะ

ขณะตรวจอาการคนไข้รายหนึ่ง ผมมองข้ามไปดูชายอีกคนซึ่งกำลังจะสิ้นลม มีคนอยู่ข้างเตียงเขาสามคน เป็นอาสาสมัครชาวฝรั่งเศส อาสาสมัครชาวญี่ปุ่นและเจ้าหน้าที่ฝึกหัดชาวไทยที่เพิ่งเข้ามาทำงานเป็นวันแรก เมื่อใกล้ถึงวินาทีที่คนไข้จะสิ้นใจ อาสาสมัครหญิงชาวญี่ปุ่นร้องไห้ซับน้ำตาด้วยผ้าเช็ดหน้า อาสาสมัครชาวฝรั่งเศสพยายามสะกดกลั้นน้ำตา ส่วนคนไทยเริ่มเล่าเรื่องขำขัน

อีกกรณีหนึ่ง แขกชาวตะวันตกขอให้ผมไปดูอาการซึมเศร้าของคนไข้รายหนึ่งซึ่งกำลังร้องไห้ ผมพูดกับคนไข้จนเขาเริ่มพูดอีกครั้ง จากนั้นก็ร้องไห้อีก โดยนิสัยผมเป็นคนใจแข็ง เลยชวนคุยได้ไม่นานก็เบื่อ แล้วก็เดินหนีไปโดยอ้างว่าต้องไปดูอาการคนไข้อีกราย แขกชาวตะวันตกอีกคนแวะมาหา และคนไข้รายนี้ก็ร้องไห้อีก สุดท้าย ผู้ช่วยพยาบาลชาวไทยที่เห็นเหตุการณ์มาตลอดเดินไปยืนข้างเตียงของเขา และสามารถทำให้เขาหัวเราะได้ในที่สุด

ครั้งหนึ่งมีเสียงดังมาจากเครื่องวิทยุที่ตั้งอยู่กลางเรือนคนไข้. "Happy Birthday to you!" คนไข้รายหนึ่งซึ่ง

พูดภาษาอังกฤษได้บ้าง ตะโกนร้องเพลงเป็นภาษาอังกฤษว่า "Happy dead day to you!" คนไข้คนอื่นๆ ร่วมร้องประสานเสียง และทุกคนก็หัวเราะเสียงดัง

ความลึกลับของวัฒนธรรมไทยยังคงมีเสน่ห์ตรึงใจผมอยู่เสมอ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: Yves Wery, M.D. เป็นอาสาสมัครอยู่ที่วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรีมานานกว่าสองปี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Click here to send remarks, suggestions, corrections

Click here to go to the Protocols Table

Table Française

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

_______________________________________

paul yves wery - aidspreventionpro@gmail.com

aids-hospice.com & prevaids.org& stylite.net